FinTech คืออะไร มีอะไรบ้าง สู่การเงินยุคดิจิทัล

FinTech คืออะไร หน้าปก

ทุกวันนี้เพื่อน ๆ ยังพกเงินสนอยู่ไหมนะ ตอนขึ้นรถไฟฟ้าใช้บัตรเดบิตแตะเข้าเลยบ้างหรือเปล่า ? สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้นี่แหละที่เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งใน FinTech แต่พอเรียกชื่อกันโต้ง ๆ แบบนี้ก็อาจจะไม่คุ้นหูกันเท่าไหร่ ในบทความนี้เราจะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับฟินเทคกันมากยิ่งขึ้นกับ FinTech คืออะไร มีอะไรบ้าง สู่การเงินยุคดิจิทัล

การเงินในยุคปัจจุบัน

การเงินเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเราทุกคนมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งก็ปรับเปลี่ยนไปตามการเวลา แต่ในปัจจุบันเพื่อน ๆ อาจจะไม่ทันสังเกตุกันว่า การเงินไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องเงินอย่างเดียวเท่านั้นแล้ว เรื่องของเงินถูกผูกติดกับเทคโนโลยี ซึ่งก็แยกออกจากกันได้ยากมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งค่ากิน ค่าเดินทาง การออม ก็ถูกใช้ในรูปแบบ Internet Banking กันอย่างแพร่หลาย แม้แต่การลงทุนก็เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอิทธิพลที่มาจาก FinTech ทั้งสิน

FinTech คืออะไร?

FinTech คืออะไร

FinTech นั้นเกิดจากการนำคำสองคำมารวมกันคือ Financial และ Technology ซึ่งก็คือบริการทางการเงิน การธนาคารและการลงทุน ที่นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย ถือเป็นเทคโนโลยีทางการเงินยุคใหม่ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้ ผู้ใช้อย่างเรา ๆ ได้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่เข้ามาเพียงเท่านั้น แต่ยังเริ่ม Distrup ธุรกิจหลาย ๆ อย่างมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนและง่ายที่สุดคือการ Scan QR Code จ่ายเงินที่เข้ามาทดแทนการใช้เงินสด และแอพพลิเคชั่นสำหรับการลงทุนที่มีมากขึ้นทุกวัน หรือจะเป็นเทคโนโลยี Blockchain ที่เข้ามาเป็นทางเลือกในการลงทุนและการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่ค่าธรรมเนียมถูกลงอย่างมาก

ความเป็นมาของ FinTech

โลกเราเริ่มตื่นตัวกับ FinTech มากขึ้นเมื่อช่วยปี 2000 อย่างไรก็ดีถ้าจะพูดถึงว่าฟินเทคเกิดขึ้นมาได้ยังไง คงต้องย้อนกลับไปอีกไกลเลยทีเดียว เรามาดูกันว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ต้นกำเนิดของ FinTech นั้นเริ่นต้นมายังไง

ประวัติของ FinTech
ที่มา : AILabPage

FinTech 1.0 : จุดเริ่มต้นของโครงสร้าง (1866-1967)

ย้อนกลับไปไกลถึงปี 1866 กับเหตุการณ์ Transatlantic Telephone Cable หรือการลากสายเคเบิ้ลครั้งแรกจากทวีปอเมริกาถึงยุโรป ซึ่งเข้ามาช่วยลดเวลาในการเดินเอกสารสำหรับทำธุรกรรมระหว่างทวีปจากประมาณ 20 วัน เหลือเพียง 10 วันเท่านั้น จากการเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว จนถึงการเกิดขึ้นของบัตรเครดิต ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีอย่างตู้ ATM ตู้แรกขึ้นที่ประเทศอังกฤษในปี 1967 จากการมาถึงของคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นก้าวแรกที่เป็นพื้นฐานโครงสร้างสำคัญรวมกันเป็น FinTech 1.0 อย่างสมบูรณ์

FinTech 2.0 : สู่ยุคของธนาคาร (1967-2008)

หลังจากเราได้รู้จักกับตู้ ATM สิ่งที่เกิดขึ้นคือการลงทุนหนึ่งตู้นั้นมีต้นทุนสูงมากเนื่องจากต้องลากสายเคเบิ้ลเข้าสู่ตู้และเข้ารหัสกลับไปที่ฐานข้อมูลกลาง ทำให้เกิดปัญหาการมีตู้ ATM ค่อนข้างน้อยและไม่ครอบคลุม จนเข้าสู่ยุคของ Internet of Things (IOT) ที่เข้ามาช่วยลดต้นทุนในเรื่องของการลากสายเคเบิ้ลลงไป เหลือเพียงการส่งสัญญาณแบบไร้สาย ต้นทุนในการวางตู้จึงลดลงถึง 90%

นอกจากนี้ยังมีบริการทางการเงินเกิดขึ้นมากมายทั้งการก่อตั้ง NASDAQ ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของโลกในปี 1970 เป็นจุดเริ่มต้นของตลาดการเงินเบอร์ต้น ๆ ของโลก ในปี 1973 มีการก่อตั้ง SWITF (Society For Worldwide Interbank Financial Telecommunications) ที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนได้

ต่อมาในปี 1980 การขยายตัวของคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของธนาคารมากยิ่งขึ้น และทั่วโลกได้รู้จักกับ Internet Banking อย่างแพร่หลายลากยาวมาถึงปี 1990 โมเดลธุรกิจ E-commerce และอินเทอร์เน็ต ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกี่ยวกับการเงินและความสัมพันธ์กับสถาบันทางการเงิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเข้าสู่ยุคดิจิทัลกันอย่างเต็มตัวและจบลงด้วยวิกฤติทางการเงินเมื่อปี 2008

FinTech 3.0 : การก่อตัวของสตาร์ทอัพ (2008-2014)

วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบรุนแรงต่อธนาคารและผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ต่อความไว้วางใจที่ลูกค้ามีให้ นำไปสู่แนวคิดในการสร้างอุตสาหกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ขึ้น ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ก้าวเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ จึงเป็นยุคที่มีสตาร์ทอัพ FinTech เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากควบคู่ไปกับธนาคาร จนการมาถึงของ Bitcoin v0.1 ที่เข้ามามาบทบาทสำคัญในโลกการเงิน

การรุกตลาดของสมาร์ทโฟนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ FinTech เป็นรูปเป็นร่างได้ เนื่องจากคนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายดายมากขึ้น และยังเป็นวิธีที่คนใช้อินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายมากขึ้นทุกวัน จึงเกิดธุรกิจทางการเงินที่เข้ามาซัพพอร์ตการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น รวมถึงการปรับตัวของผู้เล่นเก่าอย่างธนาคารที่ต้องสรรหาบริการที่รองรับสมาร์ทโฟนยิ่งขึ้น

FinTech 3.5 : โลกาภิวัฒน์ (2014-2017)

ช่วงเปลี่ยนผ่านโลกเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญกับตลาดการเงินมากยิ่งขึ้น มุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้ามากขึ้น มีการเปิดรับบริการทางการเงินใหม่ ๆ มากและรวดเร็วขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ใหม่ และผลประโยชน์ของผู้ใช้ที่ออกเป็นคนสุดท้าย

FinTech 4.0 : การแทรกแซงของเทคโนโลยี

ยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ในขณะที่เทคโนโลยี Blockchain และธนาคาร ยังคงขับเคลื่อนนวัตกรรมบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง Neobank ได้เสนอบริการทางการเงินแบบดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนเกม ด้วยจุดแข็งอย่างการใช้งานที่เรียบง่าย และค่าธรรมเนียมที่ถูกมาก ๆ จนถึงไม่มีเลย ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า

อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Machine Learning ที่เข้ามามีบทบาทในบริการทางการเงินเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความปลอดภัยอย่าง Solution AI ในปี 2018 ที่เรียนรู้จากข้อมูลเชิงลึกเพื่อป้องกันการช้อโกงและฟอกเงิน โดยคาดการณ์จากพฤติกรรมของลูกค้า หรือการคาดการณ์และวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้ลงทุนหน้าใหม่สามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการเกิดขึ้นของ Platform การชำระเงินแบบครบวงจรจำนวนมากนอกเหนือจากธนาคาร ให้เราได้เลือกใช้ก็ยังทยอยเกิดขึ้นในยุคนี้ ถ้าในบ้านเราที่คิดว่าทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันก็จะมี True Money Wallet, ShopeePay หรือ Line Wallet ที่จะสามารถจ่ายได้ตั้งแต่ค่าน้ำค่าไฟจนถึงการใช้จ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวัน

วัตถุประสงค์ในการพัฒนา FinTech

วัตถุประสงค์ของ FinTech

FinTech นั้นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการบริการทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาฟินเทคที่จะตอบโจทย์ให้ผู้ใช้ได้แบ่งออกได้ดังนี้

  • เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน
  • เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับกิจกรรมมูลค่าสูงด้วยระบบอัตโนมัติ
  • ช่วยลดและตัดตัวกลางทางการเงินออกไป
  • การสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่
  • ความสามารถในการนำเสนอสินค้าและบริการเฉพาะกลุ่ม
  • การเพิ่มศักยภาพของผู้ใช้

FinTech มีอะไรบ้าง แล้วใช้ทำอะไร

การพัฒนาของ FinTech ก้าวหน้าขึ้นมากในปัจจุบัน และถูกใช้ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนในหลากหลายส่วน ถ้าจะให้พูดถึงว่าฟินเทคมีอะไรบ้าง เราก็ต้องขอยก 6 Function of FinTech มาเล่าให้ฟังดังนี้

1. การชำระเงิน (Payments)

ฟังก์ชั่นพื้นฐานของ FinTech ที่เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ ได้ใช้กันอยู่ทุกวันคือการชำระเงิน การสแกนจ่ายด้วย QR Code การโอนเงินผ่าน Mobile Banking และการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้ลดการพกเงินสดลงไปและการชำระเงินระหว่างประเทศทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน

2. การซื้อขายและวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Market Provisioning)

การซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นมาและทุกคนรู้จักดีคือการซื้อขายหุ้นออนไลน์ ที่ทำได้ง่ายและแพร่หลายมากในปัจจุบัน แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพียงแค่ปลายทางเท่านั้น เพราะการจะเกิดการซื้อขายหลักทรัพย์การวิเคราะห์นั้นมาก่อนเสมอ ซึ่งคนที่ไม่รู้เรื่องการลงทุนเลย คงมองว่ายาก ไม่เข้าใจ และตัดสินใจเลือกฝากเงินกับธนาคารเหมือนเดิม FinTech เป็นสิ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มตรงกลางระว่างผู้ใช้และการลงทุน ด้วยโปรแกรมมากมายที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์และให้ข้อมูลกับผู้ใช้ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจได้

3. การจัดการการลงทุน (Investment Management)

ในสมัยก่อนการจะมีคนมาจัดการการลงทุนให้เราได้ เราจำเป็นต้องถือเงินลงทุนจำนวนมาก เข้าไปที่ธนาคารเพื่อพูดคุยถึงรูปแบบการใช้เงิน ความคาดหวัง และความเสี่ยง แต่เมื่อ FinTech เข้ามาบริการเหล่านี้ทำได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงเป็นกองทุนรวม ที่ทุกคนสามารถซื้อได้เองแล้วผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร โดยมาควบคู่กับการซื้อขายและวิเคราะห์หลักทรัพย์ ด้วยการทำแบบสอบถามออนไลน์และประเมินความเสี่ยงที่รับได้ หลังจากนั้นธนาคารก็จะแนะนำกองทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรารับได้ ด้วยเงินลงทุนน้อยมาก ๆ ในบางทีเพียง 1 บาทก็สามารถลงทุนได้แล้ว

4. การระดมทุน (Capital Raising)

การระดมทุนถูกยึดโยงกับธนาคารมาอย่างยาวนานทั้งเพื่อการซื้อบ้าน รถ หรือทำธุรกิจ ผ่านเงินฝากที่เราเอาเข้าไปฝากกันนั้นแหละ ซึ่งมีขั้นตอนที่เยอะ การตรวจสอบที่ต้องใช้เวลานาน FinTech จึงได้รับความคาดหวังว่าจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาลงไปได้ ตัวอย่างเช่นแพลตฟอร์มการระดมทุนที่มีมากขึ้นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น Indigogo, GoFundMe หรือ Crowdfunding 

5. การฝากและกู้ยืมเงิน (Deposit and Lending)

การฝากเงินจะมีตัวเลือกมากขึ้นและดีขึ้นผ่าน FinTech ทำได้ง่ายมากขึ้นสังเกตุได้จากการเปิดบัญชีเงินฝากที่เกือบทุกธนาคารสามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้ รวมถึงการกู้ยืมเงินตั้งแต่ขนาดเล็กอย่างการทำบัตรเครดิตตัวอย่างจากเราเองเลยที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องไปธนาคารเลยด้วยซ้ำ จนถึงขนาดใหญ่อย่างการกู้เงินเพื่อธุรกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องไปธนาคารบ่อย ๆ สามารถตรวจสอบได้ผ่านฐานข้อมูล ซึ่งลดขั้นตอนลงไปได้มาก

6. การประกันภัย (Insurance)

ในกรอบของ FinTech มีแตกแยกลงไปอีกเกี่ยวกับการประกันภัยเรียกว่า InsurTech ซึ่งเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพของบริการประกันภัย ตั้งแต่การซื้อประกันผ่านออนไลน์ การเปิดปิดประกันรถยนต์แบบอัตโนมัติตามการใช้งาน ทำให้ประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าดียิ่งขึ้น

Thai FinTech Ecosystem

Thailand FinTech Ecosystem
ที่มา : https://thaifintech.org/members

ประเทศไทยได้เริ่มมีการขับเคลื่อนเกี่ยวกับ FinTech มาได้หลายปีแล้วตั้งแต่การเข้ามาของ Mobile Banking การจัดการระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ จนถึงปัจจุบันที่ฟินเทคเข้ามามีบทบาทกับวงการการเงินในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งด้านการลงทุนที่มีนักลงทุนหน้าใหม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุน หรือ Digital Asset รวมถึงงานด้านประกันภัยที่ยังคงออก Product ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุดมากขึ้น

นอกจากนี้แรงสนับสนุนจากภาครัฐที่มีต่อ FinTech ในประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง Event ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคที่จัดขึ้นโดยภาคเอกชนอย่าง Thailand Fintech Festival เมื่อช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา ในอนาคตเราคงได้เห็นแนวทางใหม่ ๆ ในการให้บริการด้วย FinTech ที่จะเข้ามาสร้างแรงกระเพื่อมให้วงการการเงินไทยอย่างแน่นอน

FinTech คืออะไร สรุป

แนวทางธุรกิจด้านการเงินในอนาคตเราคงได้เห็น FinTech เข้ามามีบทบาทมาขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าเพื่อน ๆ อาจจะไม่เคยได้ยินคำคำนี้เลยก็ตาม แต่ทุกคนโชคดีมาก ๆ ที่ผ่านเจอกับบทความของเรา LearningFeel ถ้าเพื่อน ๆ อ่านมาถึงตรงนี้เราการันตีเลยว่าจะเข้าใจเกี่ยวกับฟินเทคได้อย่างแจ่มแจ้งอย่างแน่นอน

Verified by MonsterInsights